Tuesday, August 9, 2011

กฎหมายเกี่ยวกับผู้เยาว์




"ผู้เยาว์" หมายถึง บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งจะบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ [1]

ผู้เยาว์ คือ บุคคลที่อ่อนอายุ อ่อนประสบการณ์ และขาดการควบคุมสภาพจิตใจ จึงถือว่าเป็นผู้หย่อนความสามารถ เพราะยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่อาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของตน ดังนั้น กฎหมายจึงให้ความคุ้มครองช่วยเหลือจนกว่าบุคคลนั้นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงเป็นบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะ

ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะเมื่อใด
ในทางกฏหมาย "ผู้เยาว์" หมายถึง บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยกฏหมายได้กำหนดวิธีการบรรลุนิติภาวะจากการเป็นผู้เยาว์อยู่ 2 วิธี คือ

1.การบรรลุนิติภาวะโดยทางอายุ (การที่อายุครบ 20 ปี บริบูรณ์) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 19 บัญญัติว่า "บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์"
2.การบรรลุนิติภาวะโดยทางสมรส มาตรา 20 บัญญัติว่า "ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาสะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448”[2]
การสมรสของผู้เยาว์- ถ้าชายและหญิงมีอายุมากกว่า17ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน20ปี ทั้งคู่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม- ถ้าอายุไม่ถึง17ปี ต้องได้รับคำสั่งศาล คือ ศาลต้องอนุญาตให้สมรสก่อน เพราะอาจมีเหตุอันสมควร เช่น หญิงตั้งครรภ์จากข้อกฎหมาย ดังนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1454, 1436 บัญญัติว่าผู้เยาว์จะทำการหมั้น หรือสมรสได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้
() บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา
() บิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองหรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้
() ผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
() ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตาม () () และ () หรือมีแต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครองการหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ

การทำนิติกรรมของผู้เยาว์
มาตรา 21 ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อนการใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน ผู้แทนฯ หมายถึงผู้ซึ่งอาจให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ได้ เช่น บิดามารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร หรือ บุคคลอื่นซึ่งถูกตั้งขึ้นมาเพื่อปกครองผู้เยาว์
การใด (นิติกรรม) ที่ผู้เยาว์กระทำลงไปโดยลำพังไม่ได้ขอความยินยอมจากผู้แทนฯ การนั้นจะเป็นโมฆียะ
คำว่าโมฆียะหมายความว่า ไม่บริบูรณ์ อาจให้สัตยาบรรณหรืออาจบอกล้างได้ กล่าวคือสมบูรณ์อยู่จนกว่าจะถูกบอกล้าง
ตัวอย่าง นิติกรรมที่โจทก์ทำกับจำเลยในขณะโจทก์เป็นผู้เยาว์แต่มิได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมนั้นเป็นโมฆียะ เมื่อนิติกรรมนั้นมิได้ถูกบอกล้างจึงมีผลผูกพันโจทก์อยู่
การให้ความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม
ในเรื่องของการให้ความยินยอมนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบเฉพาะไว้ว่าต้องให้อย่างไร ดังนั้นจะให้ความยินยอมเป็นหนังสือหรือยินยอมด้วยวาจาหรือโดยปริยายก็ได้ ยินยอมโดยปริยายเช่น รู้ว่าผู้เยาว์จะลงทุนทำธุรกิจแล้วไม่ท้วงติงว่ากล่าว หรือการให้คำปรึกษาว่าต้องทำอย่างไรซื้อของที่ไหนควรจะซื้อได้ในราคาเท่าไหร่ หรือลงนามเป็นพยานในสัญญา ช่วยติดต่อภาระกิจการงานให้ เป็นต้น
นิติกรรมที่ผู้เยาว์สามารถทำเองได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอม


มาตรา 22 ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง
ในเรื่องมาตรา 22 นี้ต้องเป็นนิติกรรมที่ผู้เยาว์มีแต่ทางได้ไม่มีเสีย หากผู้เยาว์จะมีเสียอยู่ด้วยย่อมทำไม่ได้ เช่น สัญญาซื้อขาย ผู้เยาว์มีเสียอยู่ด้วยคือเสียเงินหรือทรัพย์สินที่จะทำการซื้อขายจะทำไม่ได้ แต่ถ้าผู้เยาว์ได้อย่างเดียวเช่นได้รางวัลฉลากกินแบ่ง ได้รางวัลจากการส่งชิ้นส่วนเข้าชิงรางวัล ผู้เยาว์สามารถไปรับได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอม
เพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง เช่น ผู้เยาว์เป็นหนี้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ แต่เจ้าหนี้จะปลดหนี้ให้ ผู้เยาว์สามารถรับการปลดหนี้ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมแทนฯ
มาตรา 23 ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว
การที่ต้องทำเองเฉพาะตัวผู้เยาว์ เช่น พินัยกรรม รับรองบุตร ระวัง! อย่าสับสนกับการชำระหนี้ซึ่งเป็นการเฉพาะตัวของลูกหนี้โดยแท้ เช่น เยาว์เป็นนักแสดง การแสดงหนังต้องแสดงเองการแสดงหนังเป็นการชำระหนี้ซึ่งต้องทำเองเฉพาะตัว แต่การจะรับแสดงหนังหรือไม่นั้นต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน
มาตรา 24 ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนและเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร
สมแก่ฐานานุรูป เช่น การซื้อสินค้าอันจำเป็นตามปกติ การใช้จ่ายที่ไม่ฟุ้งเฟ้อตามปกติ การซื้อโทรศัพท์มือถือปัจจุบันอาจเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนได้ แต่การซื้อรถยนต์ ซื้อที่ดิน ยังคงเกินฐานานุรูป
มาตรา 25 ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุสิบห้าปีบริบูรณ์
การทำพินัยกรรมนั้นผู้เยาว์จะทำได้เมื่ออายุครบ 15 ปี บริบูรณ์แล้วเท่านั้น แต่ถ้าผู้เยาว์ซึ่งสมรสแล้วถือว่าบรรลุนิติภาวะแล้วแม้อายุเพียง 14 ปี ก็สามารถทำพินัยกรรมได้ อีกทั้งการทำพินัยกรรมเป็นการที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัวตามมาตรา 23 อีกด้วย
มาตรา 26 ถ้าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ผู้เยาว์จำหน่ายทรัพย์สินเพื่อการอันใดอันหนึ่งอันได้ระบุไว้ ผู้เยาว์จะจำหน่ายทรัพย์สินนั้นเป็นประการใดภายในขอบของการที่ระบุไว้นั้นก็ทำได้ตามใจสมัคร อนึ่งถ้าได้รับอนุญาตให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยมิได้ระบุว่าเพื่อการอันใดผู้เยาว์ก็จำหน่ายได้ตามใจสมัคร
ตามมาตรานี้เป็นเรื่องผู้เยาว์ต้องการจำหน่ายทรัพย์สินของตนเอง ซึ่งการจำหน่ายทรัพย์เป็นนิติกรรมเช่นกัน ดังนั้นผู้เยาว์จึงจำต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน โดยความยินยอมตามมาตรานี้แบ่งเป็น
1. ความยินยอมให้จำหน่ายทรัพย์สินเพื่อการอันใดอันหนึ่งอันได้ระบุไว้ เช่น ผู้แทนฯ ให้ผู้เยาว์นำเงิน 2000 บาทไปซื้อเสื้อผ้า ผู้เยาว์ต้องนำเงินไปซื้อเสื้อผ้าตามที่ระบุไว้ แต่ผู้เยาว์จะซื้อแบบใดร้านใดก็ได้แล้วแต่ผู้เยาว์เนื่องจากไม่ได้มีการระบุเงื่อนไขไว้
ระวัง! คำว่าจำหน่ายนักศึกษาหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการขายอย่างเดียว เช่นการมีสิ่งเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หมายถึงการขายสิ่งเสพติด แต่จริง ๆ แล้วหมายถึงการซื้อได้ด้วย ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า
จำหน่าย ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน โอน เอาออก เช่น จำหน่ายจากบัญชี
2. ความยินยอมให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยมิได้ระบุว่าเพื่อการอันใดเช่น ผู้แทนฯ ให้เงินผู้เยาว์ 2000 โดยไม่ได้ระบุว่าให้เอาไปจำหน่ายอย่างไร ผู้เยาว์สามารถนำเงินไปซื้ออะไรก็ได้ อย่างไรก็ได้
ผู้เยาว์ประกอบธุรกิจ
มาตรา 27 ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการประกอบธุรกิจทางการค้าหรือธุรกิจอื่น หรือในการทำสัญญาเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานได้ ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้เยาว์อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตได้
ในความเกี่ยวพันกับการประกอบธุรกิจ หรือการจ้างแรงงานตามวรรคหนึ่งให้ผู้เยาว์
มีฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว
ถ้าการประกอบธุรกิจ หรือการทำงานที่ได้รับความยินยอมหรือที่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายถึงขนาดหรือเสื่อมเสียแก่ผู้เยาว์ ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจบอกเลิกความยินยอมที่ได้ให้แก่ผู้เยาว์เสียได้หรือในกรณีที่ศาลอนุญาต ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการอนุญาตที่ได้ให้แก่ผู้เยาว์นั้นเสียได้
ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมบอกเลิกความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควรผู้เยาว์อาจร้องขอต่อศาล ให้เพิกถอนการบอกเลิกความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมได้
การบอกเลิกความยินยอมโดยผู้แทนโดยชอบธรรม หรือการเพิกถอนการอนุญาตโดยศาล ย่อมทำให้ฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วของผู้เยาว์สิ้นสุดลงแต่ไม่กระทบกระเทือนการใด ที่ผู้เยาว์ได้กระทำไปแล้วก่อนมีการบอกเลิกความยินยอมหรือเพิกถอนการอนุญาต
เรื่องนี้เป็นเรื่องผู้เยาว์ต้องการจะทำธุรกิจหรือการงานตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งการทำธุรกิจหรือการงานก็เป็นการทำนิติกรรมอย่างหนึ่งเช่นกันผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมเสียก่อน ซึ่งในกรณีที่ผู้เยาว์สามารถประกอบธุรกิจหรือการงานได้แล้วแต่ผู้แทนฯ ไม่ให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ผู้เยาว์สามารถร้องขอต่อศาลได้ หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ไม่มีผลเสียและกรณีมีความจำเป็นศาลอาจจะอนุญาตได้ ซึ่งการอนุญาตหรือไม่เป็นดุลยพินิจศาล
เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ผู้เยาว์มีฐานนะเสมือนบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว เช่น ดำต้องการทำธุรกิจค้าขายเสื้อผ้า ดำได้รับอนุญาตจากผู้แทนฯ แล้ว ดำสามารถดำเนินการซื้อเสื้อผ้ามาขายแม้ว่าจะมีราคาแพง หรือสามารถพิจารณาเรื่องราคาหากผู้ซื้อต่อรองได้โดยไม่ต้องไปขอความยินยอมอีก ดังนั้น หากปรากฎว่าดำซื้อเสื้อผ้ามาราคาแพงเกินไป ผู้แทนฯ จะไปบอกล้างนิติกรรมไม่ได้ เพราะกฎหมายให้ถือว่าดำบรรลุนิติภาวะแล้วในเรื่องที่ได้รับอนุญาตนั้น
แต่หากว่าดำซื้อเสื้อผ้ามาแพงตลอด แต่ขายถูกตลอด เวลาไปขายเสื้อผ้าที่ตรอกข้าวศาลดำนั่งแท็กซี่ตลอด ขายได้ก็นำเงินไปซื้อเหล้าร้านข้าง ๆ กินตลอดจนทุนหายกำไรหด เช่นนี้ ผู้แทนฯ สามารถบอกเลิกความยินยอมได้เพราะเป็นกรณีที่ผู้เยาว์ประกอบธุรกิจเสียหายหรือเกิดความเสื่อมเสียแก่ผู้เยาว์อย่างมาก ในกรณีที่ความยินยอมได้รับอนุญาตจากศาล
ผู้แทนก็อาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนความยินยอมได้ กรณีนี้ผู้แทนฯจะเพิกถอนเองไม่ได้
เมื่อมีการบอกเลิกหรือเพิกถอนความยินยอมแล้ว ฐานะเสมือนบรรลุนิติภาวะของผู้เยาว์ก็จะสิ้นสุดลง ผู้เยาว์จะกลับมาเป็นผู้เยาว์อีก ดังนั้นหลังจากนี้ผู้เยาว์จะไปซื้อเสื้อผ้ามาขายไม่ได้แล้ว หากไปซื้อมาอีกผู้แทนฯ สามารถบอกล้างนิติกรรมนั้นได้ตามมาตรา 21 แต่หากเผอิญว่าดำยังมีหนี้เก่าที่ไม่ได้ชำระค่าเสื้อที่ซื้อมาขายก่อนหน้านี้ หนี้นั้นก็สมบูรณ์ทุกอย่าง ต้องชำระหนี้ไปจะอ้างว่าเมื่อบอกเลิกหรือเพิกถอนความยินยอมแล้วหนี้เป็นโมฆะไม่ได้เพราะการสิ้นสุดในเรื่องความบรรลุนิติภาวะของผู้เยาว์นั้นไม่กระทบกระเทือนถึงนั่นเอง[3]


การที่บุคคลจะทำนิติกรรมต่างๆ เช่น ทำสัญญาซื้อขายที่ดิน , การขายบ้าน , การรถยนต์,การทำสัญญากู้ยืมเงิน และแม้กระทั่งการแต่งงาน ฯลฯ ได้นั้น บุคคลคนนั้นจะต้องมีอายุเกิน 20 ปี หรือตามกฎหมายมักเรียกว่า บรรลุนิติภาวะ (คนที่อายุไม่ถึง 20 ปี บริบูรณ์ ตามกฎหมายมักเรียกว่า เป็นผู้เยาว์ครับ)
แต่อาจมีนิติกรรมบางอย่างที่ผู้เยาว์สามารถกระทำได้ อันได้แก่ นิติกรรมหรือกิจกรรมใดๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์โดยไม่ก่อความเสียหายให้แก่ผู้เยาว์  เช่น การรับทรัพย์สินหรือการรับโอนที่ดินโดยเสน่หา และผู้ให้ไม่มีข้อผูกมัดหรือเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น
สำหรับบุคคลใดต้องการจะโอนที่ดินให้ผู้เยาว์ หรือ มอบมรดกให้ผู้เยาว์ต้องระวังนะครับ เพราะเมื่อโอนให้ผู้เยาว์แล้ว ไม่สามารถให้ผู้เยาว์โอนคืนหรือให้ผู้เยาว์ทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับที่ดินนั้นได้  หรือแม้แต่ผู้เยาว์เสียชีวิตลง ผู้ที่โอนที่ดินให้ผู้เยาว์ก็ไม่สามารถโอนกลับไปให้เจ้าของเดิมได้ แต่ต้องว่ากันด้วยกฎหมายที่ว่าด้วยมรดก คือ มรดกที่ดินดังกล่าวจะต้องตกกับทายาทของผู้เยาว์ที่ตายไปนั้นเอง
แต่ในบางกรณี เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี หรือผู้เยาว์ ก็สามารถทำนิติกรรมหรือบรรลุนิติภาวะได้ เช่น เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปี แต่งงานและพ่อแม่ ผู้ปกครองให้การยินยอมให้แต่งงาน เมื่อเด็กและเยาวชนคนนั้นแต่งงานเสร็จ ก็ถือว่า บรรลุนิติภาวะหรือสามารถทำนิติกรรมทุกอย่างได้ครับ
แต่ต้องเป็นการสมรสแบบถูกต้องตามกฎหมายนะครับ ถึงจะพ้นสภาพการเป็นผู้เยาว์ได้
สำหรับการกระทำความผิดต่อเด็กหรือผู้เยาว์ มีหลักการ ลงโทษ...โดยกฎหมายจะดูอายุของเด็กเป็นสำคัญ..หากผู้เยาว์หรือเด็กอายุยิ่งน้อย...ความผิดในการลงโทษยิ่งมาก...เช่น การพรากผู้เยาว์ เยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี ( ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 บัญญัติว่า ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 4,000 บาท ถึง 20,000 บาท )  , การพรากผู้เยาว์ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 บัญญัติว่า ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15  ปี และปรับตั้งแต่ 6,000 บาท ถึง 30,000 บาท ) ถามว่า โทษคดีที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ทำไมอายุยิ่งน้อย โทษจึงยิ่งมาก เพราะตามหลักของกฎหมาย กฎหมายมักคุ้มครองเด็ก เพื่อไม่ให้ผู้ใหญ่เอาเปรียบ รังแก ทำทารุณ ได้ครับ
และจากข้อความข้างต้น ทำไมผมถึงเขียนเด็กบ้าง เยาวชนบ้าง เพราะความหมายของคำว่า
เด็ก หมายถึง บุคคลที่มีอายุเกิน 7 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์
เยาวชน หมายถึง บุคคลที่มีอายุเกิน 14 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์
ในปัจจุบัน เรามีศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งถือว่าดีมาก เพราะคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนถือว่า เป็นคดีที่มีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ อีกทั้งศาลเด็กและเยาวชนยังมีความแตกต่างตรงที่มีผู้พิพากษาสมทบอีกด้วย สำหรับผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสมทบ คือ ผู้แทนของประชาชนในการตัดสินเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดในรูปแบบของการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู สงเคราะห์ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เด็กและเยาวชนที่หลงผิดกลับตัวเป็นพลเมืองดีของสังคม[4]





ความผิดเกี่ยวกับการพรากผู้เยาว์
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 บัญญัติว่า
ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
พรากเด็กอายุ 15- --> จำคุก 3-5 ปี ปรับ 6,000-30,000 บาท ถ้าหากำไรหรืออนาจาร จำคุก 5-20 ปี ปรับ 10,000-40,000 บาท
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 บัญญัติว่า
ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสีย จากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท
พรากเด็กอายุ 15-18 ไม่เต็มใจ --> จำคุก 2-10 ปี ปรับ 4,000-20,000 บาท ถ้าหากำไรหรืออนาจาร จำคุก 3-5 ปี ปรับ 6,000-30,000 บาท
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 บัญญัติว่า
ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
พรากเด็กอายุ 15-18 เต็มใจ --> จำคุก 2-10 ปี ปรับ 4,000-20,000 บาท [5]




อ้างอิง(References)

พรชัย สุนทรพันธุ์.ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์.ครั้งที่1ฉบับสมบรูณ์ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551.กรุงเทพฯ : บริษัท ธนธัชการพิมพ์ จำกัด,2551.

ผศ.เนติรัตน์ อรรถุวุฒิศิลป์.หลักกฏหมายเอกชน ส่วนที่2.ครั้งที่5.กรุงเทพฯ :มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หัวหมาก,2552.

เทพวิฑูรม พระยา. คำอธิบายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ1-2 มาตรา 1-240 (2500).กรุงเทพฯ : เนติบัณฑิตยสภา, 2550

คมกริช วัฒนเสถียร. คู่มือนักศึกาว่าด้วยกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ถึง 6. พิมม์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ :มงคลการพิมพ์, 2550

ศรียาภัย, ขุน. หลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บุคคล ว่าด้วย ทรัพย์ นิติกรรม หนี้. พระนคร :โรงพิมพ์หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2512.








[1] ด.ต.จำลอง จันทร์ฝาย,กฏหมายการพรากผู้เยาว์, http://maeping.chiangmai.police.go.th/lawmon1.html


[2] pradthana putla, กฏหมายแพ่งเกี่ยวกับความสามารถของผู้เยาว์http://fangwittayayon.net/profiles/blogs/5053090:BlogPost:4444
[3]natjar2001law. http://natjar2001law.blogspot.com/2011/01/blog-post_12.html
[4] กฎหมายเกี่ยวกับผู้เยาว์,สุทธิชัย ปัญญโรจน์, http://www.oknation.net/blog/markandtony/2010/04/18/entry-1
[5] Pakka. http://law.longdo.com/node/704